ควรตั้งใจทำธุระของตน
อตฺตโน ว อเวกฺเขยฺย อ่านว่า อัดตะโน วะ อะเวกเขยยะ
ก้าว (๙) พลัง
๙ พลัง หรือ ข้อธรรม ๙ ข้อนี้ เราใช้กับหลักสิ่งต่างๆ ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เจริญภาวนา การทำมาค้าขาย ธุรกิจ การงาน เป็นครูบาอาจารย์ เป็นต้น ต้องใช้หลักธรรม ๙ ข้อ นี้ สิ่งการณ์นั้นสำเร็จ ก้าวไปข้างหน้า เจริญแน่นอน มีดังนี้
๑. ดำริชอบ คือ ความคิดสิ่งที่ถูกต้อง คิดในสิ่งที่ดีงามเป็นกุศล
๒. เห็นความสำคัญ คือ เมื่อเราจะทำสิ่งใดเราต้องเห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านั้นก่อน มีความสำคัญมากเพียงใด หากไม่ทำจะเกิดสิ่งใดขึ้น แต่หากทำผลลัพธ์ที่ตามมาคืออะไร เราต้องใช้สติปัญญาพิจารณาสิ่งที่เราจะทำให้ดีเพื่อให้เราเห็นความสำคัญของสิ่งๆ นั้น เมื่อทำไปจะได้ไม่เกิดการท้อถอย
๓. ศรัทธา คือ ความเชื่อ ความมั่นใจ เมื่อเราจะทำสิ่งใดเราต้องมีความศรัทธาเชื่อมั่นในสิ่งเหล่านั้นว่าถูกต้องแล้ว ดีแล้ว
๔. สัจจะอธิษฐาน คือ ความตั้งใจจริง ไม่ทำเหลาะแหละ หรือหยุดกลางคัน แม้มีอุปสรรคผ่านมาก็สามารถฟันฝ่าไปได้
๕. ตั้งปณิธาน คือ การตั้งความปรารถนา มีความปรารถนา ความต้องการอย่างแนวแน่ แน่นอนไม่ผันแปร
๖. ฉันทะ คือ ความพอใจ ความชอบใจ ความยินดี ความต้องการ ความรักใคร่สิ่งนั้น, ความรักงาน มีความพึงพอใจต่อสิ่งที่ทำ พอใจที่จะทำต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง พอใจในสิ่งที่ตนมี ตนเป็นอยู่
๗. ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ คือ ทำไปอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องไม่หยุดกลางคัน
๘. กฎระเบียบวินัย คือ เราต้องรู้จักรักษากฎระเบียบวินัยไว้อย่างเคร่งครัด บ้านมีกฎบ้าน เมืองมีกฎเมือง เหมือนกับการเป็นทหาร ผู้ที่เป็นทหารจะมาจากหลายเผ่าพันธุ์ มากพ่อหลายแม่ ต่างถิ่นที่อยู่ แต่เมื่อมาอยู่รวมกันจะต้องมีกฎระเบียบวินัย กฎระเบียบวินัยนี้จะเป็นตัวช่วยจัดระเบียบ และรักษาซึ่งความสงบเรียบร้อย หากสังคมไหนไร้ซึ่งกฎระเบียบวินัยสังคมนั้นก็จะเป็นสังคมที่เน่าเฟะ เกิดโกลาหล เช่นเดียวกับเราหากขาดวินัยชีวิตเสียแล้ว ชีวิตจะเกิดความเครียด และเกิดปัญหาตามมา ส่งผลให้ชีวิตขาดคุณภาพชีวิต
๙. ขันติ วิริยะ อดทน อดกลั้น (ต่อสิ่งยั่วยุ) อดออม (ไม่ใช้พลังมากไป) แก้ไข พัฒนา คือ ขอแปลความหมายเป็นข้อๆ ดังนี้
ขันติ คือ การรักษาภาวะปกติของตนไว้ได้ ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนา หรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม มีความมั่นคงหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน
อดกลั้น คือ การทนทางจิตใจ รู้จักยับยั้งชั่งใจ ทนต่อกิเลสที่มายั่วยวน
อดออม คือ รักษาไว้ไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือย ประหยัดอดออม
แก้ไข พัฒนา คือ การหาเหตุแห่งปัญหา แล้วแก้ที่ต้นเหตุนั้น เมื่อดีแล้วก็มีการพัฒนาปรับรุงเรื่อยๆ สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง
ทั้ง ๙ ประการนี้ ใช้ จ.จ.ด. ควบคุม (จริงจัง จริงใจ เด็ดขาด)
http://www.dhammathai.org/articles/dbview.php?No=1401