ความไม่ทะเลาะวิวาท เป็นความปลอดภัย

ความไม่ทะเลาะวิวาท เป็นความปลอดภัย

อวิวาทญฺจ เขมโต อ่านว่า อะวิวาทัญจะ เขมะโต

“ผู้ระมัดระวังอยู่ย่อมไม่ก่อเวร” (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)

” .. อาศัยการปฏิบัติตามคำที่ทุกคนคงได้ฟังจนคุ้นหู คือ “ขออภัย” กับคำว่า “ให้อภัย” เมื่อใครทำอะไรล่วงเกินแก่คนอื่น “ก็กล่าวคำขออภัยหรือขอโทษ ฝ่ายผู้ที่ถูกล่วงเกินก็ให้อภัยคือยกโทษให้” คนเราต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่ คือร่วมบ้านเรือนร่วมโรงเรียน ร่วมประเทศชาติ เป็นต้น

ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ก็อาจจะประพฤติล่วงเกินกันบ้างเพราะความความประมาทพลั้งเผลอต่าง ๆ “ถ้าต่างไม่รู้จักขออภัยและไม่รู้จักให้อภัยแก่กันและกันแล้ว ก็จะทะเลาะวิวาทกัน” แตกญาติ แตกมิตร แตกสหายกันไม่มีความสุขสงบ “นี้แหละคือเวร” อันได้แก่ความเป็นศัตรูกัน หรือที่เรียกอย่างเบา ๆ ว่า “ไม่ถูกกันนั่นเอง”

อนึ่ง “จะคิดว่าล่วงเกินเขาแล้วก็ขอโทษเขาได้” ดังนี้แล้ว “ไม่ระมัดระวังในความประพฤติของตนก็ไม่ถูก” เพราะโดยปกติสามัญย่อมให้อภัยกันในกรณีที่ควรให้อภัย ซึ่งผู้ประพฤติล่วงเกินแสดงให้เห็นได้ ว่าทำไปด้วยความประมาท หรือด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา และให้โทษไม่มากนัก

“คนที่มีจิตใจสูง เป็นพิเศษเท่านั้นจึงจะให้อภัยในเรื่องร้ายแรงได้” ซึ่งก็มีเป็นส่วนน้อย และถึงแม้จะให้อภัยในส่วนตัว แต่กฎหมายบ้านเมืองไม่ยอมอภัยให้ก็มีและโดยเฉพาะ “เมื่อเป็นบาป หรืออกุศลกรรมแล้ว กรรมที่ตนก่อขึ้นไม่ให้อภัยแก่ผู้ก่อกรรมนั้นเลย”

ฉะนั้น “ทางที่ดีจึงควรมีสติระมัดระวัง มีขันติคือความอดทน มีโสรัจจะคือความสงบเสงี่ยม” คอยเจียมตน ประหยัดตน ไม่ก่อเหตุเป็นเวรเป็นภัยแก่ใคร พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า “สญฺญมโต เวรํ น จียติ ผู้ระมัดระวังอยู่ย่อมไม่ก่อเวร” .. ”

“ความเข้าใจเรื่องกรรม”
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
http://sangharaja.org/download-book.php

เพิ่มเพื่อน