สิ่งที่ทำแล้ว ทำคืนไม่ได้

สิ่งที่ทำแล้ว ทำคืนไม่ได้

กตสฺส นตฺถิ ปฏิการํ อ่านว่า กะตัสสะ นัตถิ ปฏิการัง

———————-

ท่านหมายความว่า สิ่งที่ทำไปแล้ว ให้กลายเป็น ไม่ได้ทำ ไม่ได้ เพราะเราทำไปแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว

“อดีตแก้ไม่ได้” เพราะว่าเป็นอดีตไปแล้ว สำเร็จไปแล้ว แต่สิ่งที่สำเร็จไปแล้วแต่มันมีส่งผลวิบาก เราต้องแก้ที่วิบาก ไม่ใช่แก้ที่ “ผล”

เราแก้กรรมที่มีวิบากก็คือ

๑. เราไม่กระทำกรรมนั้นซ้ำอีก

๒. เราต้องเคลียร์กับเจ้ากรรมตรงนั้น เหมือนกับเราติดหนี้ เพราะเราติดหนี้ไปแล้วใช่ไหม? เราต้องการเคลียร์หนี้ ทีนี้เราต้องยอมรับว่าเราเป็นหนี้ และเคลียร์กับเจ้าหนี้ วิบากกรรมถึงจะลด

เขาเรียกว่า เคลียร์ที่ “วิบาก” ไม่ใช่ที่ “ผลกรรม”

แต่ถ้าบางคนบอกว่าเคลียร์ที่ผลกรรม ซึ่งเคลียร์ที่ผลกรรมไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นอดีตไปแล้ว อดีตของกรรมมันบรรลุไปแล้ว ผลมันเกิดไปแล้ว แต่เหตุแห่งกรรม วิบากจะสืบเนื่อง

อะไรมันคือเหตุวิบาก

ก็คือเหตุที่เราไปทำวิบากอะไรล่ะ เช่น เราไปตีหัวเขา ก็จะเป็นวิบาก ก็จะกลายเป็นผล คือ ได้ตีหัวเขา และเขาเจ็บหัวแล้ว

แต่วิบาก คือ สิ่งที่เรา “ไปกระทำ ไปตี” เราต้องมาเคลียร์เหตุ คือ ไปตีเขา

เราบอกว่า แผลที่หัวให้หาย ไม่มีรอยแผล หรือไม่เคยถูกตี เป็นไปไม่ได้ แผลก็ต้องเป็นแผลไปแล้ว เราจะต้องมีเคลียร์ที่ใจ “บอกว่า ตรงนี้อย่าถือโกรธเรานะ เราจะส่งกุศลไปให้นะ”

มาเคลียร์ที่เหตุ ก็คือ จิตใจของเขายังผูกอยู่

คนทั่วไปไม่เข้าใจตรงนี้ เลยบอกว่า ของเก่า กรรมเก่าแก้ไม่ได้ แต่มันแก้ได้ที่ “เหตุ”

แก้ที่ “วิบาก” ไม่ใช่แก้ที่ผลแห่งกรรม

ผลแห่งกรรมตรงนั้นมันสำเร็จไปแล้ว

ยกตัวอย่าง เราตีหัวของเขา หัวเขาแตกเป็นแผลใหญ่มาก เราจะมาบอกว่า เราสำนึกผิด ขอขมาเขาแล้ว มันจะหายไป อย่างนี้เป็นไปไม่ได้ แต่เขาผูกเจ็บอกเจ็บใจ นี่แหละ มันคือ “วิบาก”

เราก็จะมาเคลียร์ เรามาสำนึกผิด มาขอโทษ ขอขมา เราเผลอตีเขา ฉันยอมชดใช้ ฯลฯ

เราจะต้องไป “สร้างเหตุ” อีกอย่างหนึ่งมาเคลียร์ “เหตุ” วิบากนั้น

เขาเรียกว่า “แก้ที่วิบาก” “เคลียร์ที่วิบาก” ไม่ใช่แก้ผลแห่งกรรม ผลของกรรมตรงนั้น

ย้ำอีกครั้งหนึ่ง เราตีหัวเขา แตกเป็นแผล เราจะไปเป่าไม่ให้เขาไม่แตกไม่ได้ แต่เราเคลียร์ความเจ็บใจของเขาได้ แต่เราไปเคลียร์ที่หัวเขาไม่ให้แตกเป็นแผลไม่ได้ เพราะมันเป็นผลไปแล้ว

เขาจะมาแก้แค้นเราเพราะเหตุแห่งความเจ็บใจ ไม่ใช่เหตุแห่งบาดแผล

นี่แหละ คนทั่วไปเข้าใจผิดตรงนี้ แล้วมาบอกว่า กรรมแก้ไม่ได้ ตรงผลตรงนั้นแหละแก้ไม่ได้จริง แต่แก้ที่วิบาก เหมือนกับเส้นผมบังภูเขา

คนทั่วไป กรรมเก่าไม่ได้แก้ แต่จะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทำดีๆ ใหม่ แล้วกรรมวิบากตรงนั้นไม่ได้แก้ จะให้ชีวิตดีได้อย่างไร ดีไม่ออกหรอก คนเข้าใจผิดเยอะ

นิยามคำศัพท์

๛ วิบาก แปลว่า ผลที่เกิดแล้วทั้ง ๒ ฝ่าย

หมายความว่า ผลของการกระทำ คือ ทั้งสองฝ่ายได้ทำตอบรับซึ่งกันและกัน

หมายถึง ผู้กระทำได้ทำแล้ว และผู้ที่รับ ก็ได้รับผลของเขาที่ได้ทำนั้นแล้ว

๛ วิบากกรรม คือ เหตุที่เราสร้างไว้ก่อนแล้ว ย่อมมาส่งผล

๛ “กรรม” แปลว่า “การกระทำ” ความหมายแบ่งได้ ๒ อย่าง คือ
๑) กรรมกิริยา
๒) กรรมนาม เป็นผลแห่งกรรมแล้ว

๑. เราจะรู้ทันกรรมกิริยา คือ เราจะต้องมีสติสัมปชัญญะที่เหนือกว่า เราจึงเลือกว่าเราจะทำหรือไม่ทำ หรือว่าทำแล้วจะยุติลงได้ไหม? หรือจะทำเบาลงกว่านี้ นี่แหละเรียกว่า “รู้ทันกรรม” คือรู้ว่ากรรมนี้จะนำพาเราไปสู่สิ่งที่ไม่ดี เราก็หยุดซะ ไม่ทำ

๒. กรรมนาม เป็นผลแห่งกรรมแล้ว สำเร็จไปแล้ว คือ เราก็ต้องหาวิธีชดเชย หาวิธีการแก้ไข ทำคุณไถ่โทษ หรือสำนึก หาคนที่อยู่ ณ ปัจจุบันนี้ที่เราเคยทำร้ายเขาไปสำนึกขอโทษเขา

“กรรมนาม” คือ ผล ผลที่ว่าสำเร็จแล้ว หมายถึง เราตีหัวเขาเจ็บแล้ว

ส่วน “กรรมกิริยา” คือ คิดว่าจะไปตีเขา จะตี ถ้าจะตีเขาถ้าเรารู้ทันกรรม เราก็จะยับยั้ง ยับยั้งแค่ว่าคิดจะตี อยู่ที่กิริยาว่ากำลังจะตี ยั้งแล้ว ผลก็จะแตกต่างกัน

คำว่า “แก้” คือ แก้พฤติกรรม ไม่ใช่แก้กรรมที่ก่อมาแล้ว การแก้กรรมที่ก่อมาแล้วให้หมดไป อย่างนี้ไม่มี เป็นไปไม่ได้

๛ การแก้กรรม คือ แก้พฤติกรรมที่เคยทำมาอย่างนั้น การที่เราแก้ไขพฤติกรรมที่มาอย่างนั้นแล้ว เขาก็จะไม่ก่อกรรมเช่นนั้นอีก ก็เท่ากับไม่ทำกรรมเพิ่ม ถ้าเขาไม่รู้แล้วไปทำกรรมตรงนั้นอีก ก็เอาแต่เพิ่มกรรมอยู่เรื่อย ต้องให้แก้พฤติกรรมตรงนั้น ไม่ใช่ไปแก้กรรมที่เคยทำมาแล้ว แก้แล้วให้หมดไปอย่างนี้ไม่มี เราไม่ใช่ย้อนอดีตแล้วไปแก้ อย่างนี้ไม่ใช่ แต่เราย้อนอดีตมาเป็นบทเรียน เราไม่ใช่แก้ตรงนั้นจนให้เปลี่ยนผลอดีตได้ อย่างนี้ไม่ได้

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ ๕ เป็นสมเด็จพระสังฆราชไทยองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
http://www.dhammathai.org/articles/dbview.php?No=1651

เพิ่มเพื่อน