เมื่อเกิดเรื่องราวลึกซึ้ง ย่อมต้องการบัณฑิต
อตฺเถ ชาเต จ ปณฺฑิตํ อ่านว่า อัดเถ ชาเต จะ ปันดิตัง
มงคลข้อที่สอง คือ คบหาบัณฑิต
บัณฑิต หมายถึงผู้รู้ดี รู้ชั่ว ผู้มีความรู้ มีสติปัญญาดี มีคุณธรรมสูง ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ชอบ ที่ถูกต้อง ที่สมควร ที่ดีงาม
บัณฑิต มีลักษณะเป็น กัลยาณมิตร ซึ่งมีคุณสมบัติ ดังนี้
กัลยาณมิตรธรรม 7 (qualities of a good adviser)
คุณสมบัติของบัณฑิต ที่คบหรือเข้าหาแล้วจะเป็นเหตุให้เกิดความดีงามและความเจริญ มีดังนี้คือ
1. ปิโย (lovable; endearing)
น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม
2. ครุ (estimable; respectable; venerable)
น่าเคารพ ในฐานประพฤติสมควรแก่ฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งใจ และปลอดภัย
3. ภาวนีโย (adorable; cultured; emulable)
น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยความซาบซึ้งภูมิใจ
4. วตฺตา จ (being a counsellor)
รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไร พูดอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี
5. วจนกฺขโม (being a patient listener)
อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์ อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว
6. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา (able to deliver deep discourses or to treat profound subjects)
แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจได้อย่างง่ายๆ และทำให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปได้
7. โน จฏฺฐาเน นิโยชเย (never exhorting groundlessly; not leading or spurring on to a useless end)
ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย
กัลยาณมิตรนี้ คือ มิตรแท้ในข้อที่ 3 มิตรแนะประโยชน์ สำหรับเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นที่ปรึกษาและขอคำแนะนำ
ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน ได้คบหาสมาคมกับมิตรอุปการะ หรือ มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข หรือ มิตรแนะประโยชน์ หรือ มิตรมีน้ำใจ เพื่อความสุขความเจริญของชีวิต เนื่องจากเวลาของคนเรามีเพียง 24 ชั่วโมงในแต่ละวัน เราจำเป็นต้องบริหารเวลาของเราให้ดี เลือกใช้เวลากับเพื่อนที่ดี ไม่ควรไปเสียเวลากับเพื่อนเทียม ซึ่งมีแต่่จะนำความไม่สบายใจ และ ความเสื่อมมาสู่ตัวเรา