พึงประพฤติตน ให้พอเหมาะพอดี
อนุมชฺฌํ สมาจเร อ่านว่า อนุมัดชัง สะมาจะเร
“อัตตัญญูตา” คือ ความรู้จักตน และก็ประพฤติปฏิบัติให้สมกับฐานะของตัว ว่าฐานะของเราเป็นอย่างไร? และวัด บ้าน โรงเรียน สถานที่ราชการ เราควรวางตัว ทำตัวอย่างไร มันมีคนพร้อมหมด เช่น พระเณร ก็มี ชาวบ้าน นักเรียนก็มี ทหารตำรวจ นายสิบนายพัน ปริญญาตรี โท เอก ก็มี นี่เป็นวิทยฐานะและใครก็ไม่ได้ถือตัวว่าเรามีวิทยฐานะอย่างไร อ้นนี้ขอฝากไว้เป็นข้อคิด อยู่พอเหมาะพอดีมีศีลาจารวัตรอันงดงาม สงบเสงี่ยมเจี่ยมตัว การพูดจาปราศัยก็พูดเฉพาะที่จะเป็น ที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องพูด การที่จะพูดจาอะไรจะต้องนึกคิดพิจารณาเสียก่อน ใช้สติสัมปชัญญะไตรตรองให้รอบคอบเสียก่อนว่าสมควรหรือไม่ อย่างนี้เป็นการดี จะทำอะไร อย่าให้ขาดสติสัมปชัญญะ อย่าทำอะไรเหมือนคนตาบอด อย่าให้เข้าทำนองที่กล่าวว่า “คนโง่เอาใจไว้ที่ปาก” คือ คิดอะไรก็ไหลออกปากทันที จะไม่ดี
ส่วน “คนฉลาดเขาเอาปากไว้ที่ใจ” คือ เวลาเขาจะพูด เขาจะคิดไตร่ตรอง ย้อนแล้วย้อนอีกว่าจะมีผลดี ผลเสีย และมีผลกระทบทั้งส่วนตนเองและคนรอบข้าง อย่างไร หรือไม่ ? ซึ่งเขาจะกลั่นกรองเสียก่อนจึงพูดออกมา อันนี้ให้จำใส่ใจเอาไว้ นี้คือ “อัตตัญญุตา” คือการรู้จักวางตนหรือทำตนอย่างไร?
นอกจากรู้จักตน ตั้งตนให้อยู่พอเหมาะพอดี แล้วก็จงพยายามพัฒนาตนเองให้เป็นที่พึ่งของตัวเองได้ด้วย อย่าได้คอยแต่จะพึ่งพาอาศัยคนอื่น เช่นว่าเราเป็นเด็กไม่รู้เดียงสา ตอนนั้น เราก็จะพึ่งพาอาศัยพ่อแม่เราอยู่ พอโตขึ้นมาเราก็พึ่งครูอาจารย์ เมื่อมีงานการอะไรเราก็พึ่งเจ้าของกิจการ และเพื่อน มิตรสหาย แต่ผู้ที่เป็นที่พึ่งของเราอย่างนั้นเป็นได้บางอย่าง และชั่วครั้ง ชั่วคราว พึ่งได้ตามแต่เขาจะกรุณา เช่นพ่อแม่ เราพึงท่านได้ ท่านให้ความอุปการะคุณเลี้ยงดูทุกอย่างก็แต่ในช่วงที่ท่านยังแข็งแรงหรือเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อไม่อยู่ในฐานะดังกล่าวแล้ว เราก็ไม่สามารถพึ่งได้
ครูอาจารย์ก็เหมือนกันเป็นที่พึ่งของเราก็ได้เพียงการแนะนำพร่ำสอน ถ้าเราเป็นนักเรียนที่ถูกดื้อถือรั้น สอนสั่งไม่ปฏิบัติตาม ครูอาจารย์ก็จะเอาเราคือ จะไม่เมตตา หรือถ้าท่านเมตตาก็เป็นได้ช่วงหนึ่งแห่งชีวิตของเราเมื่อยังเป็นนักเรียน แต่เมื่อเราจบมาแล้ว ๆ เรายังจะต้องพึ่งครูตลอดไปคงไม่ได้