ทำอะไร โดยผลีผลาม ย่อมเดือดร้อน
เวคสา หิ กตํ กมฺมํ อ่านว่า เวคะสา หิ กะตัง กัมมัง
นิทานธรรมะบันเทิง …รอดเพราะปัญญา…
พญาลิงผู้ตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง เคยโดดข้ามไปหาอาหารผลไม้กิน ที่เกาะกลางน้ำ ในขณะที่กระโดดไปนั้น ต้องพักที่ก้อนหินซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างฝั่งกับเกาะ แล้วจึงกระโดดต่อไปยังเกาะอีกทีหนึ่ง ทั้งไปและกลับ ต้องทำเช่นนี้เป็นนิจ
นางจระเข้ตัวหนึ่ง เห็นลิงใหญ่ตัวนั้นแล้วอยากกินหัวใจ จึงอ้อนวอนพญาจระเข้ให้ไปจับพญาลิงมาให้กิน เจ้าพญาจระเข้เคยสังเกตเห็นพญาลิงเมื่อกระโดดข้ามไปยังเกาะ ต้องโดดมาพักที่หินก่อนแล้วจึงโดดต่อไปยังฝั่งเกาะ จึงวางแผนเพื่อจะจับเอามาให้นางจระเข้กิน โดยไปนอนทับอยู่บนก้อนหิน เมื่อพญาลิงโดดลงมาที่หิน จะได้ฟัดฟาดคาบเอาตัวไป นับว่าฉลาดพอได้เหมือนกัน
ครั้นได้เวลากลับ พญาลิงมาถึงฝั่งเกาะ มองดูไปที่หิน เห็นหินโผล่น้ำผิดตา นึกในใจว่า ตามปกติหินไม่เคยโผล่พ้นน้ำถึงเพียงนี้ วันนี้ทำไมถึงโผล่สูงนัก น่าจะมีภัยเสียแล้ว จึงเรียกกระทุ้งหลอกดูก่อนว่า
“หิน หิน หินโว๊ย !” เงียบ ไม่มีเสียงตอบ พญาลิงจึงเดินแต้มสูงขึ้นไปอีก ร้องตัดพ้อขึ้นว่า
“วันนี้เป็นอย่างไร ทุกๆวันเคยทักทายกันก่อน ก็พูดกันทุกที วันนี้มาโกรธเคืองด้วยเรื่องอะไรเล่า? เราอุตส่าห์ร้องเรียกจึงนิ่งเสีย”
พญาจระเข้ได้ยินเสียงดังเช่นนั้น จึงนึกในใจว่า แผนของเราจะพลาด ถ้าเรานิ่งเสีย เขาคงเคยพูดกันมาแต่ก่อน วันนี้เรามานอนทับเสีย หินจึงพูดไม่ได้ หากสิ่งที่เคยเป็นมาแปรผัน เขาคงจะสงสัย เราต้องขานรับว่า
“โว๊ย พญาลิงเราขานรับท่านแล้ว”
พอพญาจระเข้ขานรับ เลยเข้าหลักกลไม่เป็นกาลและการไม่เป็นกล พิธีแตกตรงนี้เอง
พญาลิงได้ฟังก็ค้านขึ้นมาทันทีว่า นั่นจระเข้ มันคอยจะจับเรา จึงเดินแต้มสูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ร้องถามว่า…
“นั้นใคร”
“ก็หินอย่างไรเล่า?” พญาจระเข้ตอบ พญาลิงจึงบอกว่า…
“พ่อเอ้ย หินพูดได้ มีที่ไหนบ้าง ? แกมันจระเข้” แล้วยังเย้ยต่อไปว่า…
“แกมาทำไมนะ” พญาจระเข้เสียท่าแล้ว จึงบอกตรงๆ ว่า…
“จะมาจับเจ้ากินนะซิ”
“เท่านั้นเอง ดอกหรือ ?” พญาลิงตอบ …”บอกกันตรงๆ อย่างนี้ก็สิ้นเรื่อง แกอ้าปากคอยไว้ ข้าจะกระโดดไปให้ตรงปากแกทีเดียว ไม่ต้องลำบาก” …
พญาจระเข้ทำตาม อ้าปากคอย พญาลิงจึงโดดไปเหยียบหัวพอดี และกระโดดต่ออีกครั้งอย่างว่องไว ขึ้นฝั่งไปได้
จากเรื่องตัวอย่างนี้ เราจะเห็นความรู้เท่าและรู้ทันของพญาลิง คือว่า ตอนแรกที่เห็นความผิดปกติของหินก็รู้ได้อย่างถ้วนถี่ว่ามีอะไรปรากฏอยู่ตรงนั้น ความรู้อันนี้ป้องกันมิให้โดดผลีผลามลงไป นี่คือความรู้เท่าป้องกันเอาไว้ ครั้นพอรู้ว่าภัยปรากฏเฉพาะหน้าแล้ว จึงแก้ไขเพื่อเอาตัวรอดให้ปลอดภัยให้ได้ จึงบอกจระเข้ให้อ้าปาก เพราะรู้ทันในกำพืดของมันว่า “เมื่ออ้าปากแล้วนัยน์ตามันหลับ” นี่คือความรู้ทันช่วยแก้ไขให้พ้นภัยได้…